สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนตุลาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนตุลาคมขยับเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนกันยายน
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย รายงานว่า ทางสมาคมผู้ปลีกไทย ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทำการสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนตุลาคม 2565
ทั้งนี้ผลการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนตุลาคม ขยับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย คือเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 จุด เท่านั้น เมื่อเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนกันยายน 2565
โดยได้รับปัจจัยหนุนชั่วคราวจากจำนวนวันหยุดยาวสองช่วงที่ทำให้มีการจับจ่ายมากขึ้น มาช่วยชดเชยกำลังซื้อที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตามจากปัญหาและสถานการณ์อุทกภัยอย่างหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่ยังไม่คลี่คลายลง รวมไปถึงปัญหาเรื่องต้นทุนค่าครองชีพของผู้บริโภคที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูง ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกอย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยคาดว่าดัชนี RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และเทศกาลปีใหม่ รวมถึงมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจรอบนี้ของเราพบว่า ดัชนี RSI เดือนตุลาคมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวจากจำนวนวันหยุดยาวที่มีมากกว่าเดือนกันยายน โดยมีการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending per Bill) ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency)
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาการบริโภคตามประเภทร้านค้า พบว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบห้างสรรพสินค้า, ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต, ร้านอาหาร ปรับเพิ่มขึ้น จากการแข่งขันด้านกลยุทธ์และราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายในเดือนที่มีวันหยุดยาว สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของกำลังซื้อระดับบน
ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ปรับลดลง ตามสถานการณ์ฝนตกชุกและอุทกภัยในบางพื้นที่ บ่งบอกถึงผู้บริโภคกำลังซื้อระดับฐานรากในต่างจังหวัดยังอ่อนแอ
นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบอีกว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2563-2564) ธุรกิจร้อยละ 61 ต้องลดระดับการจ้างงานลง สะท้อนถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างรุนแรง
ในขณะที่หลังการผ่อนคลายความเข้มงวด (ปี 2565) ธุรกิจกว่าร้อยละ 48.8 ยังไม่ฟื้นตัว ยังมีการจ้างงานในระดับต่ำกว่าเดิม 10-20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด ภาครัฐควรต้องใส่มาตรการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นการจับจ่ายและส่งเสริมธุรกิจให้ฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อเร่งกลไกเศรษฐกิจทั้งระบบให้พลิกฟื้นโดยเร็วอย่างตรงเป้าและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “การฟื้นตัวของธุรกิจภาคการค้า” ของผู้ประกอบการ ที่สำรวจระหว่างวันที่ 14-22 ตุลาคม 2565 ดังนี้
1. ประเมินผลกระทบด้านต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
ผลจากการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กดดันให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น
1.1 จำนวน34% ระบุว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5%
1.2 จำนวน49% ระบุว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้น 5 – 10%
1.3 จำนวน12% ระบุว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้น 11 – 15%
1.4 จำนวน4% ระบุว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 15%
2. ประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจจากการจ้างงาน
2.1 ธุรกิจ 61% ต้องลดระดับการจ้างงานในช่วงวิกฤตโควิดสะท้อนถึงผลกระทบจากโควิดค่อนข้างรุนแรง
2.2 ธุรกิจ 48.8% ยังไม่ฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายความเข้มงวด ยังมีการจ้างงานในระดับต่ำกว่าเดิม 10-20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด
3. ประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจ
3.1 ธุรกิจ 62% ประเมินว่ากำลังซื้อของปีนี้จะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา
3.2 ธุรกิจ 70% ประเมินว่ากำลังซื้อไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะขยายตัวดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา
3.3 ธุรกิจ 44% มีสภาพคล่องเพียงพอมากกว่า 12 เดือน
“สรุปภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ยังคงกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้บริโภคทั้งระดับบนและระดับฐานราก อาทิ การนำมาตรการคนละครึ่ง หรือช้อปดีมีคืนกลับมาใช้อีกครั้ง รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างงานได้เพิ่มมากขึ้นเกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เช่น การจ้างงานรายชั่วโมง เป็นต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง” นายฉัตรชัย กล่าว