ลือ! “ประยุทธ มหากิจศิริ” พร้อมทุ่ม 5-6 พันล้านบาท เพิ่มทุน “ซิปเม็กซ์” หลังก่อนหน้านี้ลูกชาย “กึ้ง เฉลิมชัย” เข้าถือหุ้นหุ้นบุริมสิทธิ์ใน Zipmex Asia (ผู้ถือหุ้นใหญ่ Zipmex ประเทศไทย) คนในแวดวงตั้งข้อสังเกตคุ้มค่าหรือไม่? จากภาพรวมตลาดคริปโตฯ ขาลง คู่แข่งดุ ภาพลักษณ์ “ซิปเม็กซ์” ติดลบ ลูกค้าปิดพอร์ตหนีกู้คืนยาก อีกทั้งก.ล.ต.ยังคุมเข้ม ขยายตลาดได้อย่างจำกัด ขณะที่ “บิทคับ” ชิ่ง ก.ล.ต. แอบไปจดทะเบียนบริษัทสิงคโปร์ หลังแข็งเมืองไม่ยอมแก้คุณสมบัติเหรียญ “KUB” – ไม่จ่ายค่าปรับปั่นเหรียญ
ใกล้จะกินเวลาไปแล้วร่วม 3 เดือนสำหรับกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex) ประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราวบริษัทเมื่อวันที่ 20ก.ค. 2565 จนสร้างความเสียหายแก่นักลงทุนจำนวนมาก หลังจากผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าจะฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทนเจอแจ็คพอต! โดนการล่มสลายของเหรียญ Terra และ Luna เมื่อเดือนพ.ค. ทำให้บริษัท บาเบล ไฟแนนซ์ (Babel Finance) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่ให้บริการสถาบันในตลาดการเงินคริปโตในฮ่องกง และบริษัท เซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มปล่อยกู้สกุลเงินคริปโตแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ประสบปัญหาสภาพคล่อง
ปมปัญหาสำคัญ ในเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ที่ทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว เป็นแหล่งรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในผลิตภัฑณ์ ZipUp+ ที่ ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) ส่งต่อสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปให้ “บริษัท ซิปเม็กซ์ โกลบอล” ที่สิงคโปร์นำเงินไปลงทุน โดยแบ่งเป็นการฝากสินทรัพย์ไว้กับ บริษัทบาเบลฯ เป็นมูลค่า 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.8 พันล้านบาท และฝากไว้กับ บริษัท เซลเซียสฯ เป็นมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 183 ล้านบาท และเมื่อไม่สามารถนำกลับคืนมาให้ลูกค้า “ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย)” ต้องยอมรับสภาพเป็นรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
นั่นทำให้ผู้บริหารใหญ่อย่าง “เอกลาภ ยิ้มวิไล” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ประกาศผุดแผนเดินหน้าระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเชื่อว่า วิธีการระดมเงินเข้ามาในบริษัท เป็นวิธีที่เร็วกว่าการฟ้องร้องคู่ค้า ซึ่งจะทำให้มีโอกาสนำเงินมาคืนผู้เสียหายได้เร็วขึ้น และเชื่อว่า Zipmex ยังมีมูลค่าเพราะยังมีนักลงทุนที่ให้ความสนใจโดยมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีอนาคต และสามารถให้ผลตอบแทนกลับคืนมาใน 3 ปีข้างหน้า
โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากการระดมทุนมากกว่า 2 พันล้านบาท (ครอบคลุมความเสียหาย 50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 1.8 พันล้านบาท) และที่ผ่านมา Zipmex สิงคโปร์ มีการเซ็นบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับนักลงทุน 2 ราย รายหนึ่งมีการวางเงินมัดจำไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเข้ามาตรวจสอบกิจการ ซึ่งกระบวนการการระดมทุนจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
ขณะเดียวกันยังเปิดกว้างให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง โดยรูปแบบการเข้ามาลงทุนนั้นมีทั้งการเข้ามาซื้อทั้งหมด และการเข้ามาถือหุ้น เพิ่มทุน
ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่าหลังจากจัดประชุม townhall กับลูกค้าและนักลงทุนตามคำสั่งของศาลสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา “ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย” ได้อธิบายประเด็นที่ลูกค้ามีข้อกังวลใจ 2 ประเด็น ว่า ประเด็นที่หนึ่ง การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่บริษัทให้บริการบนแพลตฟอร์ม เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยบริษัทได้เพิกถอนเหรียญ จำนวน 7 เหรียญ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ต.ค.นี้ มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ตลาดคริปโตฯในช่วงนี้ที่ปริมาณการ ซื้อขายโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางบริษัทมีการประเมินศักยภาพของทรัพยากรภายในใหม่ และเห็นว่าควรปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโดยรวม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ประเด็นที่สอง การดำเนินการขอพักชำระหนี้ต่อศาลสิงคโปร์ หลังจากที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอพักชำระหนี้ต่อศาลเพื่อให้ได้รับการพักชำระหนี้ โดยศาลอนุมัติให้มีผลบไปจนถึงวันที่ 2 ธ.ค. 2565 และได้มีการจัดประชุม townhall ไปแล้ว สถานะปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมในการเซ็นสัญญาระดมทุนจากนักลงทุน หลังจากนั้นจะมีการเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ และเข้าสู่กระบวนการยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งอนุมัติแผนการและดำเนินการตามแผนการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่จะสามารถทำให้บริษัทกลับเข้าสู่สภาวะเดิมนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะระยะเวลาของศาลสิงคโปร์ที่จะพิจารณานัดประชุมกับเจ้าหนี้ที่มีอยู่หลายหมื่นราย แต่โดยรวมแล้วทิศทางการแก้ไขปัญหาที่ได้เกิดขึ้น เป็นไปในทิศทางเชิงบวกและมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น
ลือ!“ประยุทธ มหากิจศิริ”พร้อมใส่ทุน
ล่าสุดมีรายงานว่า “ประยุทธ มหากิจศิริ” นักธุริกจรายใหญ่ จะเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนใน Zipmex ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 5 – 6 พันล้านบาท เพื่อเดินหน้าธุรกิจตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากที่ประสบปัญหาจากผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาสำหรับแวดวงตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่
อย่างไรก็ตามการเข้ามาร่วมลงทุนครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเมื่อตรวจสอบดูโครงสร้างทางธุรกิจของ Zipmex จะพบว่า นอกเหนือจากคนใหญ่โตในแวดวงการเมืองและการเงิน อาทิ กลุ่มลิ่มพงศ์พันธุ์ , ยิ้มวิไล ยังมี “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” บุตรชายของ “ประยุทธ มหากิจศิริ” ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ใน Zipmex Asia Pte. Ltd ในสัดส่วน 35,264 หุ้น และถือผ่านบริษัท วี เวนเจอร์ส เทคโนโลจีส์ จำกัด (บริษัทในเครือบมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) อีกจำนวน 70,529 หุ้น โดย Zipmex Asia Pte. Ltd เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) ในสัดส่วน 93.23% และ “เอกลาก” 6.77%
คุ้มค่าไหม? กับตลาดขาลง-คู่แข่งดุ
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มสงสัยต่อเม็ดเงินจำนวนมากที่ “ประยุทธ มหากิจศิริ”จะนำเข้ามาลงทุนใน “ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย” นั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศที่ลดลงอย่างมากจากช่วงต้นปี ตามมูลค่าที่ลดลงของเหรียญคริปโตฯจากความผันผวนและผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะ “บิทคอยน์” ซื้อเป็นเหรียญคริปโตฯที่ได้รับความนิยมสูงสุด
โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยให้เห็นว่า แม้ภาพรวมในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาการซื้อขายในประเทศจะกระเตื้องขึ้นมาจากสองเดือนก่อนหน้านี้จนอยู่ที่ระดับ 7.9 หมื่นล้านบาท แต่โดยรวมยังต่ำมากเมื่อเทียบจากช่วงที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดอย่างอย่าง ม.ค. 2564 ซื้อมีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน จากความผันผวนของสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในช่วงขาลงแล้ว “ซิปเม็กซ์” ยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิม ที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จากก.ล.ต.รวมแล้ว 9 ราย โดยเฉพาะบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ที่มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 90%
ส่วนขณะที่รายใหม่ อย่าง “กัลฟ์ ไบแนนซ์” ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ (GULF) บริษัทพลังงานรายใหญ่ และ Binance Capital Management ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก จะเปิดดำเนินธุรกิจและขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้ รวมถึง บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ในเครือของ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ที่ประกาศชูจุดเด่นค่าธรรมเนียมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 0 บาท
ด้าน “ซิปเม็กซ์” จากปัญหาการขาดสภาพดังกล่าว ส่งผลให้ภาพลักษณ์หมดไปจากสายตาของนักลงทุน และมีลูกค้าจำนวนมากทยอยปิดบัญชีและโยกย้ายสินทรัพย์ดิจิทัล ออกไปเปิดบัญชีกับกระดานเทรดรายใหม่ แม้จะกลับมาเริ่มดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง แต่ความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์จากสายตานักลงทุน ก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน
ก.ล.ต.คุมเข้มทำตลาดได้อย่างจำกัด
ขณะเดียวกัน จากความผันผวนของสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ถูกจับตาจาก Regulator อย่าง ก.ล.ต.อย่างใกล้ชิด นำไปสู่กฎเกณฑ์และระเบียบที่เข้มงวดเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ลงทุน นั่นย่อมทำให้การดำเนินงานของธุรกิจตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตในปัจจุบันเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม
สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อต้นเดือน ต.ค. “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง แสดงความเห็นว่า แผนพัฒนาตลาดทุน ฉบับที่ 4 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณา ซึ่งได้มีการนำเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาอยู่ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยด้วย โดยเห็นว่าบทบาทของตลาดทุน และ ก.ล.ต.ในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ นับว่าจะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากมีทั้ง Digital coin และ Digital asset ที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมในตลาดการเงิน ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแล หรือ regulator จะต้องวางหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลธุรกิจประเภทนี้อย่างสมดุล โดยต้องไม่สร้างอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้ธุรกิจเอาเปรียบประชาชน อันจะสร้างผลเสียหายตามมาในวงกว้าง
ขณะที่ ก.ล.ต. ก็เดินเรื่องการควบคุมต่างๆในสินทรัพย์ดิจิทัลต่อเนื่อง เช่น การออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนและเหมาะสม สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของต่างประเทศ และเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากพบประเด็นปัญหาจากการโฆษณา เช่น ไม่มีคำเตือนเรื่องความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งมีความผันผวนสูง หรือคำเตือนมีขนาดเล็กเกินไป รวมถึงเนื้อหาโฆษณาที่แสดงข้อมูลเพียงด้านบวก จึงอาจเป็นการชักชวนประชาชนใช้บริการหรือซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาข้อมูลและความเสี่ยงอย่างเหมาะสมก่อนตัดสินใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้
ไม่เพียงเท่านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.ครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อขายจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การลงทุนและการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ รวมถึงได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอ
โดยสาระสำคัญ คือ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อธุรกรรมขั้นต่ำ 5,000 บาท ยกเว้น โทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เช่น โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นต้น
รวมถึง กรณีที่ คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (deposit taking & lending) เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขายและประชาชนทั่วไปจากความเสี่ยงของผู้ให้บริการธุรกรรมในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งเพื่อช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดจากการเข้าใจผิดว่าเป็นบริการที่มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานกำกับ จนอาจนำไปสู่ความเสียหายของประชาชน
ทั้งนี้ แม้จะดูเหมือนเป็นการกีดกันไม่ให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสหรือความสำเร็จ แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ ก.ล.ต.ต้องการนำเสนอนั่นคือ อยากให้นักลงทุนมีการศึกษาหาความรู้การลงทุนให้เพียงพอก่อนเข้าลงทุน โดยเฉพาะเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งปัจจุบันนี้แม้จะมีกระแสการตอบรับจากนักลงทุนมากขึ้น แต่สินทรัพย์ดังกล่าวก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ ก.ล.ต.มีความกังวลว่าการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ย่อมทำให้ผู้ลงทุนมุ่งแสวงผลเพียงแค่การเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว จนอาจนำไปสู่ความเสียหายจากการลงทุนในวงกว้าง
ก.ล.ต.จี้เร่งคุ้มครองผู้เสียหาย
ส่วนคดีความที่ Zipmex ยังต้องแก้ไขและทำให้เป็นที่พอใจแก่ ก.ล.ต. นั้นล่าสุด ก.ล.ต.มีคำสั่งให้ “ซิปเม็กซ์” ประสานงานกับลูกค้าเกี่ยวกับการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้ (creditor committee) ตามคำสั่งศาลสิงคโปร์ หลังศาลสิงคโปร์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 กรณีคำขอพักชำระหนี้ของกลุ่มบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ให้พักชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 2 ธ.ค. 2565
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 ก.ล.ต.ได้ให้ข้อมูลกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวกับกรณีที่ Zipmex อาจมีพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) และกฎหมายอื่น
และเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 พนักงานก.ล.ต.ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณี Zipmex และนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่สั่งให้นำส่งข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับรายการโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัล จนถูกกล่าวโทษ
บิทคับ ดิ้นหนีไปจดทะเบียนสิงคโปร์
นอกจากนี้ มีรายงานว่า จากการที่ “กลุ่มบิทคับ” ถูกเพ่งเล็งอย่างหนักจาก ก.ล.ต.ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีรายงานว่า “กลุ่มบิทคับ” มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ขึ้นในสิงคโปร์ ในชื่อ “KUB CHAIN PRIVATE LIMITED” โดยมีที่ตั้งอยู่ในย่าน International Plaza พร้อมกับ จัดตั้งบริษัท XRB Galaxy PTE.LTD. ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนา Metaverse ภายใต้ Bitkub Chain ที่เข้าไปจดทะเบียนในสิงคโปร์เหมือนกัน โดยที่อยู่เดียวกับ KUB CHAIN
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ถูกมองว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ “บิทคับ” ไม่ยอมดำเนินการตามคำสั่ง ก.ล.ต. หลังจาก ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบแล้วพบ การคัดเลือกเหรียญ KUB นั้น บิทคับ ให้คะแนนการคัดเลือกเหรียญไม่เป็นไปตาม Listing Rule ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดย บิทคับ ให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง
เรื่องมาตรฐานของเหรียญ KUB ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก.ล.ต. ยังได้ตรวจสอบพบและสั่งให้ Bitkub แก้ไขเทคโนโลยีเหรียญ KUB ในกรณีฟังก์ชัน adminTransfer เพราะมองว่าอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ไม่หวังดีจะสามารถโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลใดๆ ได้ หากเข้าถึงสิทธิในระบบดังกล่าว อีกทั้งไม่ปรากฏการควบคุมเชิงเทคนิค (technical control) โดยให้ทำการแก้ไขภายใน 30 นับจากวันที่คณะกรรมการก.ล.ต. มีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริหาร Bitkub ทำได้เพียงชี้แจงถึงมาตรฐานของบริษัทและยืนยันการดำเนินงานที่เป็นไปตามมาตรฐาน จนเหรียญ KUB มีความเสี่ยงอาจถูกสั่งให้เพิกถอนออกจากการซื้อขาย นี่ยังไม่รวมถึง กรณีที่ ก.ล.ต. ทำหนังสือถึงอัยการดำเนินการฟ้องศาลแพ่งกับผู้กระทำผิด 3 ราย คือ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด นายสกลกรย์ สระกวี ประธานกรรมการบิทคับ และนายอนุรักษ์ เชื้อชัย (Market Maker) รวมกันสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub แต่ไม่ยอมชำระค่าปรับรวมกว่า 24 ล้านบาท และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลา 12 เดือน
แหล่งข่าวคาดว่า การจัดตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ อาจเป็นแผนหลบเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทหรือเหรียญ KUB เพราะข้อกำหนด หรือกฎระเบียบที่แตกต่างกันอาจทำให้เหรียญ KUB ยังสามารถซื้อขายบนแพลตฟอร์มต่างๆต่อไปได้ แม้ก.ล.ต.จะมีคำสั่งเพิกถอนในอนาคต นั่นเท่ากับ หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงบทบาทของก.ล.ต.ต่อการดำเนินธุรกิจของ บิทคับ ย่อมถูกลดทอนลงไป ขณะที่ บิทคับ นั่นอาจหมายถึงโอกาสที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจจากช่องว่างทางกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจึงอยู่ที่ ก.ล.ต.ว่าจะเร่งดำเนินการจัดการปัญหาต่างๆของ บิทคับ ได้รวดเร็วเพียงใด